แม้ว่าการปรับตัวให้คุ้นเคยกับมารยาทในการรับประทานอาหารของประเทศอื่น เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลานาน แต่เมื่อเข้าเมืองตาหลิ่ว ก็ควรต้องหลิ่วตาตาม มิฉะนั้น อาจทำให้ผู้ที่ร่วมวงอาหาร เกิดความกระอักกระอ่วน หรือเป็นการเสียมารยาทอย่างร้ายแรงโดยไม่ได้ตั้งใจก็ได้
มารยาทในการรับประทานอาหารญี่ปุ่น ที่รวบรวมมานี้ แม้ว่าบางอย่าง จะไม่เป็นสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นทุกคน ยึดถือปฏิบัติทุกๆครั้ง
แต่หากพวกเราชาวไทย ที่จำเป็นต้องติดต่อคบหากับคนญี่ปุ่นได้ทราบไว้ ก็ย่อมสามารถหลีกเลี่ยงการกระทำ อันเป็นการเสียมารยาทโดยมิได้ตั้งใจ ให้หมดสิ้นไปได้
การรับประทานอาหารอย่างมีมารยาท ท่ามกลางเพื่อนร่วมโต๊ะชาวญี่ปุ่น ไม่เพียงแต่จะได้รับการชื่นชมแล้ว ยังถือเป็น "เส้นทางลัด" ในการที่จะได้รับการยอมรับและความไว้วางใจ จากชาวญี่ปุ่นเจ้าของวัฒนธรรม อันจะทำให้การคบหาสมาคม เป็นไปอย่างสนิทสนมแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น จึงควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาผ่านตา และพยายามฝึกใช้ทุกครั้งที่มีโอกาส
มารยาทในการรับประทานอาหารญี่ปุ่น มีรายละเอียดข้อปลีกย่อยเป็นอย่างมาก ดังนี้
กำหนดที่นั่งตามสถานภาพของแต่ละคนอย่างชัดเจน
กล่าวคำว่า Itadakimasu (いただきます) ก่อนรับประทานอาหาร และ Gochisousama (ごちそうさま) หลังจากรับประทานอาหารเสร็จสิ้น โดยอาจพนมมือในระดับอก และก้มศีรษะเล็กน้อย เพื่อแสดงความขอบคุณต่อผู้ที่ผลิตและปรุงอาหาร ตลอดจนธรรมชาติที่ประทานอาหารเหล่านั้นมาให้
ยกภาชนะทุกชนิดขึ้นในระดับอก ในระหว่างที่รับประทานอาหาร โดยถือไว้ด้วยมือซ้าย (หรือมือข้างที่ไม่ได้ใช้ตะเกียบ) ยกเว้นจานขนาดใหญ่ หรือจานที่มีการจัดเรียงอาหารไว้อย่างสวยงาม
การไม่ยกภาชนะขึ้นจากโต๊ะ แต่ทานโดยการก้มศีรษะเข้าไปใกล้ภาชนะ เรียกว่า Inugui (犬食い) ถือเป็นสิ่งที่เสียมารยาท
ขณะที่คีบอาหารเข้าปาก ไม่ใช้มืออีกข้างหนึ่งรองใต้อาหาร เพื่อป้องกันอาหารร่วงหรือน้ำซอสหยดไหล
การใช้มือรองใต้อาหาร เรียกว่า "จานมือ" หรือ Tezara (手皿) ซึ่งดูคล้ายเป็นสิ่งที่มีมารยาท แต่ถือเป็นสิ่งที่ผิดมารยาท
หากกังวลว่าอาหารจะร่วง ให้ใช้จานเล็ก จานแบ่ง หรือฝาถ้วย เป็นภาชนะรองใต้อาหาร ระหว่างที่คีบอาหารเข้าปาก
ใช้ตะเกียบในการรับประทานอาหารทุกชนิด โดยใช้เฉพาะส่วนปลายของตะเกียบเท่านั้น
รับประทานสลับกันระหว่าง น้ำซุป ⇔ กับข้าว ⇔ ข้าวสวย โดยไม่รับประทานเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งติดๆกัน
น้ำซุป หรือน้ำในชามของนึ่ง ให้ยกถ้วยซุปขึ้นดื่มโดยตรง โดยไม่ใช้ช้อน
การดื่มน้ำซุปและทานบะหมี่ ให้ดื่มและทานโดยมีเสียงดังเล็กน้อย
ระหว่างที่เคี้ยวอาหารอยู่ในปาก ไม่ขยับตะเกียบไปมา หรือแสดงท่าทางที่เตรียมจะคีบอาหารชิ้นอื่นต่อ
การขอข้าวเพิ่ม ควรเหลือข้าวสวยติดก้นชามไว้ 1 คำ
การรับชามข้าวหรือถ้วยซุปที่ขอเพิ่ม ให้รับโดยใช้มือทั้ง 2 ข้าง แล้ววางลงบนถาดข้างหน้าตนเองครั้งหนึ่งก่อน จากนั้นจึงค่อยยกชามข้าวขึ้นเพื่อรับประทานต่อ
อาหารที่ไม่ชอบ หรือทานไม่ได้ ไม่ควรใช้ตะเกียบสัมผัสส่วนใดส่วนหนึ่งของอาหารจานนั้น
ไม่ท้าวข้อศอกบนโต๊ะอาหาร
ไม่ชะโงกหน้าไปดูอาหาร
ไม่ทานอาหารให้เหลือ
ไม่ลุกจากที่นั่งกลางคันโดยไม่จำเป็น
ไม่ใช้ไม้จิ้มฟันระหว่างรับประทานอาหาร
การใช้ไม้จิ้มฟัน ให้ใช้เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว โดยใช้มือข้างอีกข้างหนึ่งป้องปากไว้ และไม่ใช้เวลานานจนเกินไป
ไม่ใช้มือสัมผัสเส้นผม ระหว่างรับประทานอาหาร
ไม่วางสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าถือ บุหรี่ ฯลฯ บนโต๊ะอาหาร
ดื่มน้ำชา เฉพาะภายหลังจากที่รับประทานอาหารเสร็จแล้ว
ไม่ใช้โทรศัพท์ หรือเปิดเสียงสัญญาณโทรศัพท์ ในวงโต๊ะอาหาร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น