ต้นยุคเฮอัง จักรพรรดิินีคะชิโกะ อัครมเหสีในจักรพรรดิซะงะ ได้ทรงสถาปนาวัดขึ้นแห่งหนึ่ง นามว่า วัดดันริง ขึ้นในบริเวณเดียวกับที่วัดเท็นรีวตั้งอยู่ในปัจจุบัน ผ่านไป 400 ปี วัดดันริงทรุดโทรมจนไม่สามารถตั้งอยู่ได้
กลางคริสศตวรรษที่ 13 จักรพรรดิโกะ-ซะงะ และพระราชโอรสคือจักรพรรดิคะเมะยะมะ ทรงเปลี่ยนให้พื้นที่บริเวณนี้กลายเป็นเขตพระราชฐาน และตั้งพระตำหนักไว้ ซึ่งเรียกว่า พระราชวังคะเมะยะมะ การที่ใช้ชื่อ คะเมะยะมะ (亀山) ที่มีความหมายว่า "ภูเขาเต่า" นั้น ก็เนื่องจากภูเขาโอะงุระที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของวัดเท็นรีวนั้น มีลักษณะเหมือนหลังเต่า
พระราชวังได้ถูกเปลี่ยนสภาพกลายเป็นวัด ในตอนต้นยุคมุโระมะชิ อันเนื่องมาจากบัญชาของโชกุน อะชิกะงะ ทะกะอุจิ ที่ต้องการจะใช้วัดเท็นรีวเป็นอนุสรณ์สถานต่อจักรพรรดิโกะ-ไดโงะ ก่อนหน้านั้นทะกะอุจิ แข็งขืนต่อแผนปฎิรูปเค็มมุ ที่จักรพรรดิริเริ่มและมีพระราชโองการให้ตามล่าตัวตระกูลอะชิกะงะมารับโทษ อย่างไรก็ตามแผนการณ์นั้นล้มเหลวและทะกะอุจิได้ขึ้นเป็นโชกุนในปี ค.ศ. 1338 และจักรพรรดิโกะ-ไดโงะเสด็จสวรรคตในปีถัดมาที่หมู่บ้านโยะชิโนะ แม้จักรพรรดิโกะ-ไดโงะจะเป็นศัตรูของทะกะอุจิ แต่เมื่อก่อนทั้งสองก็เคยเป็นสหายรักกัน ทะกะอุจิจึงให้ มุโซ โซะเซะกิ ผู้เป็นนักบวชนิกายเซน ดำเนินการก่อสร้างวัดเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่จักรพรรดิโกะ-ไดโงะ
ในตอนแรก วัดจะถูกตั้งชื่อว่า วัดเรียะกุโอ ชิเซเซ็น (暦応資聖禅寺 ?) ซึ่งเป็นนามรัชสมัยของจักรพรรดิในราชวงศ์เหนือขณะนั้น แต่เนื่องจาก ทะดะโยะชิ น้องชายของทะกะอุจิ ได้ฝันถึงมังกรทองที่กำลังบินผ่านแม่น้ำโออิ (อีกชื่อคือแม่น้ำโฮะซุ) ที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัด วัดจึงถูกตั้งชื่อว่า วัดเท็นรีว ที่แปลว่า วัดมังกรสวรรค์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น